







ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ
ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะหรือวันออกพรรษา ปีนี้ตรงกับวันที่ 3 ตุลาคม 2563 ซึ่งในวันออกพรรษาของทางภาคเหนือ ถือได้ว่าเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่ง ชาวบ้านจะตระเตรียมข้างปลาอาหารและเครื่องไทยทานเพื่อมาร่วมกันใส่บาตร โดยพระสงฆ์จากวัดต่าง ๆ จะออกมารวมกันเพื่อรับบิณฑบาตเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็จะมีการประกาศให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้าว่ามีจำนวนพระสงฆ์ออกมารับบิณฑบาตกี่รูปทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านได้เตรียมข้าวปลาอาหารแห้งให้ครบกับจำนวนพระสงฆ์ ส่วนบางคนที่ไม่ได้มาร่วมใส่บาตรก็จะไปทำบุญที่วัด โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่จะไปรับศีลฟังเทศน์กันที่วัดด้วย
จะสังเกตุเห็นว่าชาวบ้านจะนุ่งห่มเสื้อผ้าหลายชั้นโดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นผู้หญิงจะมีการนำผ้าซิ้นผืนใหม่ที่ซื้อไว้ออกมาสวมใส่กันในวันนี้เป็นจำนวนมาก อันเป็นสีสันงานบุญของชาวล้านนาที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านานที่ว่า เมื่อถึงเทศกาลงานบุญจะมีการนุ่งห่มเสื้อผ้าด้วยของใหม่ถือเป็นการทำร่างกายและจิตใจตลอดจนเสื้อผ้าที่สวมใส่ให้บริสุทธิ์นั่นเอง
หลังจากที่ชาวบ้านออกมารอเพื่อใส่บาตรในวันออกพรรษแล้ว ขบวนบิณฑบาตของพระสงฆ์ก็จะเริ่มเคลื่อนขบวนออกไปรับบิณฑบาต โดยมีรถที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนำหน้าขบวน ตามด้วยพระสงฆ์ที่มีอาวุโสมากเรียงเรื่อยไปจนถึงสามเณร สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาของชาวบ้านก็คือ จำนวนของที่ใช้ใส่บาตรนั้นมีมากจนต้องใช้รถกระบะหลายคันเพื่อบรรทุกของกลับไปยังวัดต่าง ๆ หลังจากที่เสร็จสิ้นในการรับบิณฑบาตรแล้วพระสงฆ์ก็จะเดินทางกลับวัดเพื่อไปให้ศีลแก่ศรัทธาผู้เฒ่าผู้แก่ที่มารออยู่ที่วัด
อันเป็นภาพของพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาเนื่องในโอกาสงานบุญสำคัญยิ่ง
และถือเป็นงานประเพณีใหญ่ระดับประเทศของชาวเชียงใหม่ โดยสถานที่ๆน่าไปร่วมทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะของเมืองเชียงใหม่ก็มีหลายวัด หลายสถานที่ เช่น วัดพระธาตุดอยสะเก็ด วัดศรีสุพรรณ, วัดพระธาตุดอยน้อย, ประตูท่าแพ เป็นต้น
Credit :
Author : จักรพงษ์ คำบุญเรือง
Website : /www.lanna-arch.net