
ธนาคารไข่สิริยศวดี
ตามการวิจัยของ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในแต่ละปีมีเด็กมากกว่า 3.1 ล้านคน เสียชีวิตด้วยโรคขาดสารอาหาร และยังมีเด็กอีกราวประมาณ 200 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนา ต้องทุกข์ทนกับสภาวะทุพโภชนาเรื้อรังตั้งแต่ในครรภ์มารดาและปัญหาการขาดอาหารในวัยเด็ก แต่หากมีไข่ไก่ให้บริโภควันละฟอง ก็มากเพียงพอที่จะช่วยเหลือพวกเขาให้รอดจากความทุกข์ยาก เพราะไข่ไก่ 1 ฟองให้พลังงานและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นโปรตีนขั้นพื้นฐานที่หารับประทานได้ในราคาประหยัด
สมเด็จพระสังฆราชทรงพระดำริให้วัดทั่วประเทศไทยจัดตั้งโรงทาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2563 ผ่านเฟสบุ๊ค สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช
(อ้างอิง: https://www.facebook.com/SanggharajaOffice/posts/2473668389610717)
เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของสมเด็จพระสังฆราช ผศ.ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับงบประมาณให้ทำโครงการ เกษตรกรทันสมัย(smart farmer)ในปี 2561 และการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ จึงได้ต่อยอดโครงการเป็น โครงการระดมทุนปล่อยกู้ "เพื่อเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย (Free Range)” ด้วยการออกเหรียญดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน นอกจากนี้ยังได้งบสนับสนุนจากโครงการจ้างงาน อว. เฟส 2 เข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่งจนสามารถจัดตั้ง “ธนาคารไข่สิริยศวดี” เพื่อสร้างอาชีพเสริมและมอบโอกาสให้แก่ชาวบ้านและเกษตรกรในท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า-2019 (โควิด-2019) โดยการสร้างตลาดชุมชน และโรงทานแห่งการบริจาคที่มาจากการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี โดยมีศูนย์กลางบริหารไข่ไก่คือวัดศรีสุพรรณ
อ้างอิงจากแนวคิด “ไมโครเครดิต” หรือ การให้กู้เงินโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันแก่ผู้ยากจน ธนาคารของเขาได้เปิดโอกาสให้ผู้ยากไร้สร้างงานสร้างอาชีพ บนระบบกลไกที่เอื้ออำนวยให้ผู้กู้สามารถชำระหนี้ได้ ของ มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้ก่อตั้ง ธนาคารกรามีนแห่งประเทศบังกลาเทศ โครงการได้จัดตั้งระบบการเงินระดับจุลภาค (Microfinance) โดยปล่อยสินเชื่อขนาดเล็กและทุนสนับสนุนงบประมาณให้แก่ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ไก่ไข่แม่พันธุ์อายุ 17 สัปดาห์ จำนวน 200 ตัว มูลค่า 34,000 บาท และเงินสนับสนุนอีกจำนวน 16,000 บาทในการก่อสร้างโรงเรือนและซื้อวัสดุอุปกรณ์สำหรับเลี้ยงไก่ไข่ ตลอดจนถึงได้รับการอบรมความรู้การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.สุวิทย์ โชตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ปีก คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รูปแบบการชำระหนี้ของผู้เข้าร่วมโครงการได้อาศัยหลักแห่งธรรมะ การตั้งจิตบนสัจอธิษฐาน และสัจจะวาจา เนื่องจากเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการและวัดได้ทำสัญญาร่วมกันในรูปแบบของการเข้าร่วมโครงการวิจัยเท่านั้นจึงมีเพียงแค่หลักธรรม การตั้งจิตตั้งใจทำในสิ่งที่ดีงาม ละเว้นการประพฤติกรรมในสิ่งที่ผิด บนเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องตั้งใจดูแลไก่ไข่อย่างเต็มที่และชำระหนี้สินในรูปแบบของแผงไข่ วันละ 1 แผง (เฉลี่ยวันละ 30 ฟอง/วัน) หรือ คำนวณเป็นเงินวันละ 120 บาท/วัน เป็นเวลาทั้งสิ้น 500 วัน (หรือรวมจำนวนไข่ไก่ต้องคืนแก่วัด 15,000 ฟอง)
นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจทั่วไป สามารถร่วมทำบุญบริจาคไข่ไก่เป็นธรรมทานให้แก่เด็กและผู้ยากไร้กับวัดศรีสุพรรณผ่านระบบธนาคารไข่สิริยศวดีในรูปแบบไร้เงินสด มูลค่าการบริจาค 1,500 บาทต่อ 365 ฟอง (ไข่ไก่อารมณ์ดี 4 บาท/ฟอง) เพียงเท่านี้เด็กหนึ่งคนก็จะมีไข่ไก่อารมณ์ดีที่ปลอดสาร อุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่าไข่ไก่เชิงอุตสาหกรรม มีบริโภคตลอดหนึ่งปีอย่างไม่ขาดแคลน และสร้างมาตรฐานความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ตามแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ช่วยให้สถานสงเคราะห์หรือหน่วยงานมูลนิธิที่ได้รับการบริจาคไข่ไก่ไป สามารถจัดการวัตถุดิบในมือ เพื่อกระจายให้ทั่วถึงแก่ผู้คนยากไร้อย่างมีเสถียรภาพ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะขาดแคลนอาหารในพรุ่งนี้หรือไม่นั่นเอง
ไข่ไก่อารมณ์ดีจากชาวบ้านในโครงการ ไข่ไก่ส่วนที่เกษตรกรต้องคืนวัดตามสัญญาจะอยู่ภายใต้การบริหารของมูลนิธิวัดศรีสุพรรณ เพื่อสร้างตลาดสินค้าชุมชน โรงทาน หรือจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคมต่างๆ เช่น ทำโรงทานวัด โรงเรียน สถานสงเคราะห์เด็กและคนชราในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่หรือจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนถึงมีไข่ไก่เพื่อบริโภคในครัวเรือน โดยไข่ไก่จะถูกจำหน่ายและทำบุญในส่วนต่างๆ ของวัดศรีสุพรรณ ออกเป็น 3 ส่วน คือ
- โรงทานวัดศรีสุพรรณ : ไข่ไก่ที่ได้รับจากชาวบ้านและเกษตรกรในรูปแบบการชำระหนี้สิินประมาณอย่างต่ำ 480 ฟองต่อวันจะถูกนำมาสรรค์สร้างเป็นเมนูโรงทานต่างๆ เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ทุกข์ยาก ผู้ที่ขาดรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จะได้รับโปรตีนจากไข่ไก่อารมณ์ดี ที่ปลอดสาร และยังลดภาวะการก่อมะเร็งได้ถึง 20%
- การจัดตั้งทำบุญออนไลน์ : ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมทำบุญกับทางวัดศรีสุพรรณจำนวน 1,000 บาทขึ้นไปผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ สแกน QR-Code ไข่ไก่ที่ได้จากการทำบุญจะถูกนำไปสร้างโรงทานแก่ผู้ยากไร้ ผู้บริจาคจะได้รับใบอนุโมทนาบุญจากทางวัดศรีสุพรรณเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีตามกฏหมาย (แนบรูปประกอบ)
- ทำบุญด้วยไข่ไก่ถวายพระเจ้า 7 ตื้อ : เมื่อปี พ.ศ.2547 ชาวบ้านและช่างฝีมือชุมชนวัวลายได้ร่วมใจกันสร้างพระอุโบสถใหม่ขึ้นมาเนื่องจากอุโบสถหลังเดิมมีสภาพทรุดโทรม ไม่สะดวกแก่การประกอบศาสนกิจ จึงเกิดเป็นพระอุโบสถเงินแห่งแรกของโลก ที่ได้รวบรวมความงดงามของศิลปะและภูมิปัญญาเมืองล้านนาภายในแห่งเดียว โดยภายในพระอุโบสถนั้นยังคงประดิษฐานพระเจ้า 7 ตื้อไว้เช่นเดิม เป็นที่เคารพสักการะของชุมชนวัดศรีสุพรรณและประชาชนทั่วไป ผู้ที่ศรัทธาสามารถบนขอพรและแก้บนด้วยการถวายไข่ไก่สิริยสวดี เพื่อต่อยอดการสร้างตลาดโรงทานที่ทั้งผู้บริจาค ชาวบ้านที่เลี้ยงไก่ไข่ และผู้รับบริจาคได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เคยมีตำนานเล่าขานว่า พระประธานองค์นี้เคยแสดงพุทธปฏิหาริย์ลงสรงน้ำในสระข้างอุโบสถอยู่เป็นประจำ ประทานความสำเร็จแก่ผู้ที่มาอธิษฐานกราบไหว้เสมอ จึงกลายเป็นพระประธานที่เคารพสักการะของชาวบ้านวัวลายและประชาชนทั่วไป
ปัจจุบันสถานสงเคราะห์ มูลนิธิ วัด และโรงเรียน ที่ได้รับบริจาคไข่ไก่อารมณ์จากวัดศรีสุพรรณแล้ว เช่น สถานสงเคราะห์เด็กเวียงพิงค์ โรงเรียนคนพิการตาบอด บ้านพักคนชรา และอื่นๆ เป็นต้น ผู้บริจาคในโครงการธนาคารไข่สิริยศวดี จะได้รับใบอนุโมทนาบุญจากทางวัดศรีสุพรรณ ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
หนึ่งในโครงการที่เกิดขึ้นพร้อมกับไข่ไก่อารมณ์ดี นั่นคือ ตลาดเช้าทุกวันเสาร์ “ตักบาตรเช้า อุโบสถเงิน” ซึ่งจะมีเริ่มอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป โดยตลาดเปิดเวลา 6.00 น. เหล่าพ่อค้าแม่ค้าจะมีการเตรียมร้านเปิดขายของกันอย่างครึ้กครื้น จำหน่ายตั้งแต่อาหารสุก อาหารแห้ง อาหาร-ขนมพื้นเมือง และวัตถุดิบท้องถิ่นหลากตา เมื่อเข้าสู่เวลา 7.30 น. พระภิกษุสงฆ์ จะเดินออกมาบิณฑบาตรตั้งแต่หน้าพระวิหารจนถึงลานอุโบสถเงิน ก่อนขึ้นพระวิหารเพื่อดำเนินกิจของสงฆ์ตามเวลาอันเหมาะสม
ตกเย็นของวันเสาร์ในวันเดียวกันนั้นยังคงมีกิจกรรมถนนคนเดินวัวลาย ที่ถนนสองข้างทางของชุมชนจะเนืองแน่นไปด้วยของฝากของที่ระลึกพื้นเมืองที่น่าสนใจ และอาหารท้องถิ่น เสน่ห์ของสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ยังคงความวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพช่างเครื่องเงิน ฉะนั้นจึงไม่แปลกนักหากจะเห็นงานหัตถศิลป์เครื่องเงินอันงดงามแทรกตัวอยู่เกือบทุกๆหนึ่งเมตรตามร้านค้าสองฝั่ง
เมื่อเดินเข้าไปใกล้กับวัดศรีสุพรรณ จะได้ยินเสียงกลองสะบัดชัยดังกึกก้อง เชิญชวนเหล่านักท่องเที่ยวและผู้ได้ยินเข้ามาในวัด เพื่อเข้าร่วมประเพณีทำบุญแบบล้านนา ในชื่อกิจกรรม “ศรีสุพรรณอันปลั๊ก” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านในท้องถิ่นมีอาชีพเสริมในช่วงที่ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) เปิดพื้นที่ของวัดศรีสุพรรณให้นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมงานมงคลต่างๆที่จบในสถานที่เดียว เริ่มต้นด้วยพิธีสืบชะตาสะเดาะเคราะห์ เสริมดวงชะตา ห่มผ้าพระเจดีย์ เวียนเทียบรอบพระอุโบสถเงิน และปิดท้ายด้วยชมการแสดงแสงสีเสียงรอบอันชวนน่าจดจำ โดยค่าใช้จ่ายลงทะเบียนเพียงท่านละ 299 บาท (สำหรับกลุ่ม 30 คนขึ้นไป)
ร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งกิจกรรดีๆช่วยเหลือสังคม ของวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวัดศรีสุพรรณ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เฟสบุ๊ค: ธนาคารไข่สิริยศวดี หรือ เว็ปไซต์ http://www.watsrisuphan.com/